วัดเมือง อยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการป้องกันพระนคร จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างป้อมปืน และกำแพงเมืองเพื่อป้องกันข้าศึก มิให้เข้ามาถึงพระนครทั้งยังเป็นที่ป้องกันให้แก่ราษฎร ณ ที่นั้น ขณะที่มีการก่อสร้างกำแพงเมืองและ
ป้อมต่างๆ ก็ได้สร้างวัดขึ้นมาด้วย ชาวบ้านเรียกว่าวัดเมือง การก่อสร้างดังกล่าวได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงรักษรณเรศ (หม่อมไกรสร) เป็นแม่กองก่อสร้าง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๗
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสฉะเชิงเทรา ได้พระราชทานนามวัดเมืองแห่งนี้ว่า วัดปิตุลาราชรังสฤษฏิ์ ภายในวัดประกอบด้วย
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เป็นชั้นซ้อน ๓ ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านข้างเป็นชั้นซ้อน
๓ ชั้น ส่วนมุขที่ยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาซ้อนกัน ๒ ชั้น หน้าบันเป็นลายปูนปั้นรูปพรรณพฤกษา ลงรักปิดทอง ประดับกระจก เฉพาะหน้าบันมุขด้านหน้าพระอุโบสถมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร.
พระวิหาร ลักษณะคล้ายพระอุโบสถ แต่มีขนาดใหญ่กว่า หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีพระปรางค์ ๔ องค์ อยู่ที่มุมกำแพงล้อมพระวิหาร เป็นปรางค์ย่อมุมไม้สิบสอง กำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน มีทางเข้า ๖ ด้าน มีการหักมุมกำแพงแก้วที่ล้อมพระวิหาร บริเวณมุมกำแพงแก้วด้านตะวันออกทั้งสองด้านทำเป็นระเบียงคดหลังคามุงกระเบื้อง
ข้อมูลจาก http://www.thaiheritage.net/nation/oldcity/chachoengsao5.htm