ชุมชนวัดหลวง

ความเป็นมาของชุมชน        
         ตำบลวัดหลวง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ค่อนไปทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ตำบลวัดหลวงตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอพนัสนิคม
ประมาณ ๖.๕ กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๒,๘๓๔ ตารางกิโลเมตร หรือ ๘,๐๒๑.๒๕ ไร่ ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีลักษณะลาดเอียง จากทิศตะวันออก
ไปทางทิศตะวันตกพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การเกษตร ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชผักต่าง ๆ และการเลี้ยงสัตว์

อาณาเขตของตำบลวัดหลวง
ทิศเหนือ  ติดกับ ตำบลโคกเพลาะ ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม 
ทิศใต้  ติดกับ ตำบลไร่หลักทอง ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอพนัสนิคม
ทิศตะวันออก  ติดกับ ตำบลท่าข้าม ตำบลหัวถนน ตำบลหนองปรือ อำเภอพนัสนิคม 
ทิศตะวันตก  ติดกับ ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอพนัสนิคม

          ประชากรทั้งสิ้นประมาณ ๒,๘๖๔ คน โดยทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ เชื้อสายประชากรทั้งหมดเป็นไทยอาชีพหลักของประชาชนวัดหลวงในอดีตจะเป็น เกษตรกร แต่ปัจจุบัน คือ
อาชีพรับจ้าง รองลงมากลายเป็นเกษตรกรรม การค้าขาย และรับข้าราชการ ผลผลิตที่สำคัญ
ของตำบลวัดหลวง เป็นผลผลิตทางการเกษตร ที่สำคัญคือข้าว และอื่น ๆ เช่น ปลา กุ้ง
หลังจากว่างเว้นการทำนา ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำเครื่องจักสาน แล้วขายส่งให้พ่อค้าคนกลาง
ที่มารับซื้อเพื่อนำไปส่งที่ตัวเมืองพนัสนิคม

 

         สำหรับประวัติชุมชน มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ตำบลวัดหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่มากกว่า ๗,๐๐๐ ปี โดยนักโบราณคดีได้มีการพบถ้ำเขาชะอางโอนในเขตอำเภอ
บ่อทอง พบอารยธรรมโบราณของมนุษย์ถ้ำก่อนประวัติศาสตร์โดยพบภาชนะดินปั้นรูปทรงต่าง ๆ ขวานหิน พร้อมด้วยโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
ในระดับยุคหินใหม่นักโบราณคดีได้ค้นพบชุมชนโบราณที่โคกพนมดี หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคมและชุมชนโบราณเล็ก ๆ ที่กระจัดกระจายทางทิศตะวันตก ของอำเภอพนัสนิคม และบ้านโคกระกา อำเภอพานทอง นับย้อนหลังไปถึงวัฒนธรรม ของชุมชนระยะแรก ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ ปี ขณะนั้นชุมชนตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล
ได้พึ่งพาอาหารจากทะเลเป็นสำคัญ

         บ้านบนเนิน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลวัดหลวง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี มีอารยธรรมเก่าแก่ต่อจากโคกพนมดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๐
(พ.ศ. ๖๐๐-๑๐๐) ตรงกับอาณาจักรฟูนัน (มีอาณาบริเวณ ตั้งแต่ เวียดนามตอนใต้กัมพูชา ลุ่มน้ำโขง และบางส่วนของประเทศไทยแถวภาคตะวันออกกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา) พบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่โคกพนมดี แต่วิวัฒนาการถึงยุคโลหะพบตุ้มหูทำด้วยตะกั่วและดีบุก พบเหล็กในรูปของเครื่องใช้ ลูกปัดแก้ว
ลูกปัดหิน หินอาเกต หินคาร์นิเลี่ยน

         ตำบลวัดหลวง เดิมชื่อว่าตำบลบ้านดอน เป็นตำบลที่ล้อมรอบด้วยตำบลที่พูดภาษาลาวเป็นภาษาถิ่น แต่ตำบลวัดหลวงพูดภาษาไทย ภาคกลาง สำเนียง
เฉพาะถิ่น พนัสนิคม เนื่องจากตำบลนี้ไม่ปรากฏว่ามีชาวลาวเวียงจันทร์มาตั้งแต่รกรากอยู่ที่นี่เลย เล่ากันว่าบรรพบุรุษของชาวตำบลนี้เป็นชาวอยุธยา ที่ย้ายมา
ตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ตำบลวัดหลวงมีการแบ่งการปกครองท้องที่เป็น ๗ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านคลองนอกทุ่ง หมู่ที่ ๒ บ้านต้นโพธิ์ หมู่ที่ ๓ บ้านไร่ยายชี หมู่ที่ ๔
บ้านหัวโขดหมู่ที่ ๕ บ้านดอนพระพราหมณ์ หมู่ที่ ๖ บ้านดอนตาอุ้ย และหมู่ที่ ๗ บ้านดอนสะแก