วัดต้นสน ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๒ ถนนวชิรปราการ บ้านบางปลาสร้อย ตำบลบางปลาสร้อยอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร
เล่ม ๒๐ ของ กรมการศาสนา ระบุว่าตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ โดยพระยาชลฯ เป็นผู้สร้างและอุปถัมภ์วัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐
เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘.๗๐ เมตร ยาว ๑๕.๕๕ เมตร ชื่อของวัดมีที่มาจากเดิมภายในบริเวณวัดมีต้นสน ขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก และมีอยู่ต้นหนึ่งขนาดใหญ่มาก ชาวบ้านจึงพากันเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดต้นสน” ปัจจุบันที่ตั้งวัดต้นสนมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของวัดต้นสน คือ พระอุโบสถ มีคำจารึกที่ผนังพระอุโบสถด้านหลัง ระบุว่า – แม่พิม โยมพระครูชลธารมุนี จีนอุ้ยสามี
อยู่ภรรยาพร้อมด้วย ทายกทั้งหลาย สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ซ่อมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย ผัง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดความกว้าง ๑๒ เมตร ความยาว ๑๙ เมตร หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสี ลดชั้น ๒ ชั้น ซ้อนกันชั้นละ ๓ ตับ มีปีกนกโดยรอบ เครื่องลำยองช่อฟ้าใบระกา
ไม้แกะสลัก ประดับกระจก หน้าบันทั้งสองด้านเป็นปูนปั้นรูปเทพพนม มีลายพันธุ์พฤกษาปูนปั้นระบายสีตกแต่งด้วย เครื่องถ้วยชามลายคราม และเครื่องถ้วยเบญจรงค์ประดับ ตัวพระอุโบสถมีระเบียงโดยรอบมีเสาคอนกรีต สี่เหลี่ยมรองรับชายคาปีกนก ด้านล่างก่ออิฐถือปูนเป็นกำแพงเตี้ย ๆ มีทางเข้าตรงกึ่งกลาง
ของทุกด้านตัวพระอุโบสถมีฐานบัวรองรับผนังก่ออิฐถือปูน มีประตูทางด้านหน้าและหลังด้านละ ๒ ประตู ผนังด้านข้าง มีช่องหน้าต่างด้านละ ๔ ช่อง ซุ้มประตู
และหน้าต่างปูนปั้นลวดลายใบไม้และดอกไม้ประดับด้วยเครื่องถ้วย ชาม บานประตูหน้าต่างไม้เขียนลายรดน้ำ ที่มุมพระอุโบสถและกึ่งกลางช่องหน้าต่างช่องกลางประดิษฐานใบเสมาปูนปั้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย ซึ่งมีจารึกที่ฐาน ระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ด้านข้างมีพระพุทธรูปสำริดประทับยืนทรงเครื่องใหญ่ แสดงปางห้ามสมุทร ศิลปะรัตนโกสินทร์ประดิษฐานอยู่ ๒ องค์ ด้านหน้ามีพระอัครสาวกนั่งคุกเข่าพนมมืออยู่ทางด้านซ้าย-ขวา
และเสาเทียนโลหะจำนวน ๒ ต้น มีจารึกที่ฐานว่าระบุว่า “สร้าง พ.ศ. ๒๔๗๒” สมัยรัชกาลที่ ๗
ผนังพระอุโบสถ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ผนังสกัด ด้านหน้าเหนือกรอบเช็ดหน้าของประตูเป็นภาพพุทธประวัติขนาดใหญ่ ตอนมารผจญ เป็นภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัยบนบัลลังก์ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วและซุ้มโพธิ์มีฉัพพรรณรังสีด้าน ซ้ายเป็นภาพพระยาวัสวดีมารประทับเหนือช้างศรีเมขล์ถือศาสตราวุธหมายเข้ามาทำร้ายพระพุทธองค์ด้านขวาเป็นภาพอุทกธาราไหล ท่วมกองทัพเหล่ามาร พระยาวัสวดีมารยอมแพ้ถวายอัญชลีแด่พระพุทธองค์ ห้องภาพระหว่างช่องประตูเป็นภาพแม่พระธรณีนั่งบิดเกศาภายในซุ้มเรือนแก้ว ใต้ฐานแม่พระธรณีมียักษ์กายสีเขียวมือ ทั้งสองข้างจับลำตัวนาคไว้สองตัวปากอมหางนาคไว้ ส่วนหัวนาคจะอยู่บริเวณส่วนฐานเรือนแก้วของแม่พระธรณี ผนังด้านหลังพระอุโบสถเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจาก สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากการเสด็จโปรดพุทธมารดา ผนังทางด้านข้างทั้งสองด้าน เหนือกรอบเช็ดหน้า ของหน้าต่างเป็นภาพเทวดาชุมนุม ที่ห้องภาพระหว่างช่องหน้าต่าง เป็นภาพพุทธประวัติตอนต่างๆ บาน ประตูพระอุโบสถด้านในเขียนภาพรูปบุคคลยืน
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดต้นสน จากลักษณะรูปแบบทางศิลปกรรมน่าจะเขียน ขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ พร้อมกับการก่อสร้างพระอุโบสถ และมีการซ่อมแซมในระยะหลังบ้าง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งได้ทำการเคลือบผิวด้วยน้ำยาประเภทชักเงา ทำให้ผิวของภาพมันวาว และเกิดการสะท้อนแสง
ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้าง ๑๕.๓๐ เมตร ความยาว ๒๕.๖๐ เมตร หลังคาเครื่องไม้ มุงกระเบื้อง ลดชั้น ๒ ชั้น ซ้อนกันชั้นละ ๓ ตับ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ปูนปั้น หน้าบันปูนปั้นรูปเทพนม ตกแต่งด้วยลายเครือเถาประดับเครื่องถ้วย
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดต้นสน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนพิเศษ ๑๒๙ ง ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน ๙ ตารางวา