พระอุโบสถ : วัดใต้ต้นลาน

         พระอุโบสถ เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของวัดใต้ต้นลาน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ลักษณะเป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๖ เมตร หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบซ้อนกันชั้นละ ๔ ตับ เครื่องลำยอง
ช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันไม้ประดับกระจกสีมีสาหร่ายรวงผึ้งประดับ ด้านหน้าแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ ช่วงบนเป็นไม้ฉลุลายประดับกระจกสีน้ำเงินเป็นรูปพระนารายณ์ ประทับยืนอยู่บนมือของหนุมาน ด้านข้างเป็นดอกไม้และก้านใบไม้คดโค้ง ช่วงกลางของหน้าบันเป็นภาพ ดอกไม้มียักษ์ ๒ ตน ถืออาวุธเหาะอยู่ทางด้านข้างประดับด้วยลายใบไม้ และก้านใบไม้คดโค้ง หน้าบันช่วงล่างเป็นภาพยักษ์ ๔ ตอน มีลายใบไม้และก้านใบไม้คดโค้ง หน้าบันด้านหลังพระอุโบสถมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน ช่วงบนเป็นรูปเทวดาประทับนั่งอยู่บนแท่นฐานสิงห์มีชายผ้าทิพย์ห้อยประดับด้วยลายก้านขด ช่วงกลางของหน้าบันเป็นรูปหน้ากาฬ มีเทวดาและนางอัปสรประทับยืนอยู่ทางด้านข้าประดับด้วยลายก้านขด ช่วงล่างเป็นรูปเทวดา นางอัปสร และยักษ์นั่งพนมมือแสดงความเคารพ ด้านข้างมีลายก้านขดประดับ
          พระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่สูง มีมุขลดทางด้านหน้าและหลัง ผนังพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนมีช่องหน้าต่างด้าน ละ ๕ ช่อง บานหน้าต่างไม้แกะสลักประดับ กระจกสีเป็นภาพเทพารักษ์ประทับยืนบนแท่น มียักษ์แบก โดยเทพารักษ์หันหน้าเข้าหากันเป็นคู่ ๆ มีประตูทางเข้า-ออกทางด้านหน้าและหลัง ด้านละ ๒ ประตู บานประตูไม้แกะสลักประดับด้วยกระจกสีเป็นภาพยักษ์ยืนอยู่บนหลังสิงห์ ประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษา ตรงกึ่งกลางระหว่าง ผนังด้านหน้า และหลังมีซุ้มประดิษฐานใบเสมา ทรงสถูป ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธ รูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ด้านข้างมีพระอัครสาวกประทับยืน ทำด้วยโลหะ พื้นพระอุโบสถปูด้วยกระเบื้องเคลือบลายคราม

          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วัดใต้ต้นลาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๖ ลงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๓ ไร่ ๒ งาน ๖๔ ตารางวา           

แกลเลอรี่

แผนที่