ถ้าเอ่ยชื่อหนองมนขึ้นมา น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะไม่ว่าใครที่เคยไปเที่ยว
บางแสน จ.ชลบุรี หรือผ่านทางนั้น ก็คงคุ้นเคยดีกับร้านค้าที่เรียงรายข้างถนนที่มีมากมายสารพัดอย่าง โดยเฉพาะ “ข้าวหลามหนองมน” อันโดดเด่นซึ่งถือเป็นสินค้าของฝากติดมือขึ้นชื่อ นักกินหลายๆ คนต่างยกให้ข้าวหลามหนองมนเป็นหนึ่งในข้าวหลามในดวงใจที่กินเมื่อไหร่ก็อร่อยเมื่อนั้น
มาวันนี้ข้าวหลามหนองมนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาช้านานก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งรูปรสกลิ่นที่ชวนกินอยู่ไม่เสื่อมคลาย
อันคำว่าชื่อ”หนองมน”นั้น หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าชื่อนี้ได้แต่ใดมา ซึ่งตามตำนานของหมู่บ้านแห่งนี้ก็ได้บันทึกเอาไว้ว่าหนองมน เดิมทีเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของ จ. ชลบุรี วันหนึ่ง
มีพระภิกษุรูปหนึ่งมาธุดงค์และได้ปักกลดค้างแรมข้างหนองน้ำแห่งหนึ่งในละแวกนั้น ซึ่งก็เป็นเวลา
ที่หมู่บ้านแห่งนี้และหมู่บ้านใกล้เคียงเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นพอดี ส่งผลให้ชาวบ้านต่างบาดเจ็บ
ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก แม้ว่าชาวบ้านจะพยายามให้หมอกลางบ้านหรือหมอยาสมุนไพรก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยความวิตกกังวลชาวบ้านจึงอาราธนาพระธุดงค์ให้มาช่วยเหลือ พระธุดงค์รูปนั้นจึงได้ทำพิธีปลุกเสกน้ำมนต์ให้ชาวบ้านที่มาขอน้ำมนต์นำไปดื่มกินและประพรมตัวให้คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย
ปรากฏว่าโรคร้ายหายไปไม่มีใครล้มป่วยอีก ชาวบ้านที่หมู่บ้านใกล้เคียงได้ยินกิตติศัพท์ในการรักษาโรคร้าย ต่างก็พากันมาขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อ
ไปรักษาโรคร้ายในหมู่บ้านของตนบ้าง จนพระธุดงค์ไม่สามารถทำน้ำมนต์ให้เพียงพอกับความต้องการของชาวบ้านได้ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันขุดพื้นดินตรง
ที่พักของพระธุดงค์เป็นบ่อน้ำ ก่อนเชิญท่านมาทำพิธีปลุกเสกและหยดเทียนลงไปในบ่อน้ำนั้นชาวบ้านทั้งในและนอกหมู่บ้านนำน้ำในบ่อไปดื่มกินและรักษาโรคร้ายด้วยความศรัทธา เมื่อพระธุดงค์เดินทางไปธุดงค์ที่อื่น ชาวบ้านต่างพากันอพยพมาอยู่ใกล้ๆ หนองน้ำกลายสภาพเป็นหมู่บ้านใหญ่ ส่วนบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้นนานๆ เข้าก็แผ่ขยายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ชาวบ้านจึงพากันตั้งชื่อว่า “หนองน้ำมนต์” และเรียกหมู่บ้านตามชื่อหนองน้ำนั้น ก่อนจะกลายเป็น
“หนองมน” ในกาลต่อมา เพราะไม่มีหนองน้ำมนต์ให้เห็นอีก เนื่องจากหนองน้ำมนต์ได้กลายเป็นท้องไร่ท้องนาไปแล้วนั่นเอง
เริ่มมาเป็นข้าวหลามหนองมน
กว่าที่ข้าวหลามหนองมน จะโด่งดังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวนั้น
แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านหนองมนมีอาชีพทำนา เมื่อหมดหน้านาก็จะทำข้าวหลามเป็นของหวานกินกันตามอัตภาพ โดยจะนำข้าวเหนียวไปแลกกับน้ำตาลและมะพร้าวจากหมู่บ้านอื่น
ส่วนไม้ไผ่ป่าก็หาตัดกันเองบนเขาบ่อยาง
เมื่อมีงานประจำปีที่ศาลเจ้าหลังหนองมน จึงเกิดมีการค้าขายขึ้น พ่อค้าแม่ค้า
ส่วนจะขายข้าวหลาม ควบไปกับการขายอ้อยควั่นและถั่วคั่ว โดยในยุคนั้นมีขายกันเพียงไม่กี่เจ้า จนเมื่อมีการตัดถนนสุขุมวิท (สายเก่า) ทำให้มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาเที่ยวบางแสนมากขึ้น เกิดร้านค้ามากมายเรียงยาวตามเส้นทางสายสุขุมวิท ต. แสนสุข จ. ชลบุรี ที่ไม่ว่าใครผ่านไปผ่านมาต้องแวะลงไปซื้อข้าวหลามติดไม้ติดมือกลับบ้าน ซึ่งปัจจุบันข้าวหลามหนองมนผ่านยุคผ่านสมัยมาเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว
วัตถุดิบในการผลิตข้าวหลาม
ไม้ไผ่ ที่ใช้ทำข้าวหลามหนองมนในปัจจุบันนั้น (จากร้านแม่นิยม) ส่วนใหญ่สั่งมาจาก
3 ที่ด้วยกัน คือ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดตาก และประเทศเขมร โดยจะมีคนนำมาส่งถึงที่ร้าน ส่วนไม้ไผ่ของไทยนั้นจะหอมและสวยกว่าไม้ไผ่เขมร นอกจากนี้ไม้ไผ่เขมรยังไม่มีเยื่อไผ่ เมื่อนำมาเผาจะไม่ได้กลิ่นหอมของเยื่อไผ่เหมือนไม้ไผ่ไทย ซึ่งขนาดไม้ไผ่มี 3 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ราคาประมาณลำละ 50 บาท ราคาคิดเหมารวมกัน
ส่วนกระบอก เลือกไม้ไผ่ที่ค่อนข้างอ่อนจะมีเยื่อมาก เพื่อให้ข้าวหลามที่สุกแล้ว เมื่อแกะรับประทานจะสะดวกเพราะมันร่อนหลุดจากเปลือกไม้ไผ่ได้ง่าย เอามาเลื่อยกะระยะประมาณกระบอกละ 32-34 เซนติเมตรตามใจชอบ เมื่อตัดกระบอกไม้ไผ่ได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว นำไม้หุ้มฟองน้ำล้วงเอาเศษผงและฝุ่นละอองออกให้หมด
ส่วนผสมที่สำคัญ
1. ข้าวเหนียว 10 ถ้วยตวง
2. กะทิ 4 ถ้วยตวง
3. เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
4. น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
5. ไส้ แล้วแต่จะใส่ ส่วนมากที่มีก็ ไส้สังขยา ถั่วดำ ถั่วแดง เผือก กล้วยตาก มะพร้าวอ่อน เม็ดบัว ส้ม และชาเขียว
ขั้นตอนการทำ
1. นำข้าวเหนียวมาล้างน้ำ แช่ไว้ แล้วพักขึ้นให้สะเด็ดน้ำ ขณะเดียวกัน นำไส้ที่ต้องการใส่นำมาคลุกให้เข้ากันกับข้าวเหนียวที่เตรียมไว้
2. นำน้ำกะทิสดที่คั้นไว้มาผสมกับน้ำตาล และเติมเกลือลงไป คนให้เข้ากัน น้ำกะทิควรมีรสเค็มเล็กน้อย
3. นำข้าวเหนียวที่คลุกกับถั่วดำ กรอกลงไปในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว
การเผาข้าวหลาม
ในส่วนของการเผาข้าวหลามนั้นก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งการเผาข้าวหลามที่หนองมน มี 2 วิธี คือ การเผาข้าวหลามแบบฟืน และแบบเตาแก๊ส
1. การเผาข้าวหลามแบบฟืนเป็นการเผาข้าวหลามแบบดั้งเดิม ที่ต้องวางเรียงข้าวหลามบนพื้นดินเป็นแถวยาว ใช้กาบมะพร้าว ฟืน และเศษไม้ไผ่ที่เหลือจากการทำกระบอกข้าวหลามมาสุม คนเผาต้องใช้แรงและพลังงานเยอะในการเผา ซึ่งกว่าจะได้ข้าวหลามมา ต้องใช้เวลาเผานานกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งยังต้องล้างเก็บ ทำให้ยากลำบาก
ช่วงเวลาในการเผาข้าวหลามวันธรรมดาเผา 1 รอบเวลาประมาณ 3.30 น.
ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์หรือวันหยุดเพิ่มเป็น 2 รอบเวลา 3.30 น. และ 7.30 น
ขั้นตอนการเผาข้าวหลามแบบฟืน
1. เตรียมเชื้อเพลิง
2. บริเวณสำหรับเผาข้าวหลาม
3. วางข้าวหลามที่จะเผาเป็นแนวยาว ใส่น้ำกะทิ
4. กระเบื้องปิดปากกระบอกข้าวหลามป้องกันฝุ่น
5. การเผาข้าวหลามแบบใช้ฟืน (แบบโบราณ)
6. เขี่ยเศษเชื้อเพลิงออก
7. รดน้ำที่กระบอกข้าวหลามเพื่อให้คลายความร้อน
8. เก็บข้าวหลามใส่ตะกร้าเพื่อนำไปทำความสะอาด
9. ทำความสะอาดเพื่อนำไปขาย
ข้อมูลอ้างอิง: ข้าวหลามหนองมน” มนต์เสน่ห์แห่งข้าวหลาม
ข้อมูลเพิ่มเติม: 1. สูตรข้าวหลามโบราณแม่นิยม
2. กบนอกกะลา ข้าวหลามหนองมน
ข้อมูลภาพจาก: คุณชัยยศ ปานเพชร