ประวัติความเป็นมา การทายโจ๊กปริศนา

ประวัติความเป็นมาการทายโจ๊ก

       สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ชาวจีนย่านสำเพ็งในเขตกรุงเทพมหานคร มีการเล่น “ผะหมี” ซึ่งเป็นการทายปริศนาของจีน ที่เขียนลงบนแผ่นกระดาษ ครั้งนั้น รัชกาลที่ ๖ ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีการเล่นปริศนา “โคลงทาย” ของไทยตามแบบการเล่น “ผะหมี” “โคลงทาย” ที่เล่นกันสมัยนั้น จะมีเพียงคำตอบเดียว

        นักปราชญ์ชาวชลบุรีได้พบเห็นการเล่นโคลงทาย (ผะหมี) ในกรุงเทพฯ จึงได้ประยุกต์พัฒนาการเล่นโคลงทายหรือผะหมีที่มีคำตอบเดียว ให้เป็น “ปริศนากวี” “ปริศนาคำทาย” “ปริศนาคำประพันธ์” หรือ “โจ๊ก” ที่มี
คำตอบตั้งแต่สี่คำตอบในแผ่นเดียวกัน เป็นที่ยอมรับและนิยมเล่นทายกันในเมืองชลบุรี กลายมาเป็น “โจ๊กปริศนา
ภูมิปัญญาชาวชลบุรี ของดีเมืองพนัสนิคม”

ประวัติการเล่นทายโจ๊กพนัสนิยม

       พระพิมลธรรมราชบัณฑิต อดีตเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี (ชอบ อนุจารี) เป็นผู้นำเอาการเล่นทายโจ๊กมาถ่ายทอดให้ ครูประภัศร์ จันทน์พะยอม
ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนราษฎร์ ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๖ การเล่นทายโจ๊กจึงเกิดขึ้นที่อำเภอพนัสนิคม จนกระทั่งกลายเป็น “โจ๊กปริศนา ภูมิปัญญาชาวชลบุรี ของดีเมืองพนัสนิคม”

ความหมายของโจ๊ก

       โจ๊ก คือ ปริศนากวี ปริศนาคำทาย ปริศนาคำประพันธ์ของไทยคล้ายกับการทาย “ผะหมี” ของจีน

ทำไมจึงเรียกว่า “ทายโจ๊ก”

       คุณอธึก สวัสดิมงคล อดีตนายกพุทธิกสมาคมชลบุรี ได้ให้ความกระจ่างเรื่องคำว่า “โจ๊ก” ไว้ว่า “ผะหมี” ได้เข้าสู่จังหวัดชลบุรีอย่างจริงจังก่อน พ.ศ. ๒๔๕๘ แต่คนจังหวัดชลบุรีไม่เรียกว่า “ผะหมี” เดิมทีเดียวคนเมืองชลจะเรียกการทายโจ๊กว่า “ทายปัญหากวี” บ้าง “ปริศนาคำทาย” บ้าง “ปริศนาคำประพันธ์” บ้าง สมัยพระครูวุฒิกรโกศล (พระครูฮง) วัดกำแพงซึ่งเป็น “นายโจ๊ก” มือหนึ่งของชลบุรี ได้มีคนมาช่วยปลดแผ่นโจ๊กที่ทายถูกแล้วออกไป เพื่อเอาแผ่นใหม่ขึ้นติด ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ชองแต่งตัวให้ดูตลก ด้วยเสื้อผ้าของหุ่นไล่กาบ้าง มีการเขียนหน้าด้วยแป้งขาวให้เป็นตัวตลกและทำท่าเล่นหัวหยอกล้อ แสดงกิริยาท่าทางน่าขำด้วยวาจากับคนทาย คนจึงเรียกเขาคนนั้นว่า “ตัวโจ๊ก” ต่อมาจึงเป็นสัญลักษณ์ ของการทายปริศนากวี แทนที่จะเรียกว่า “ทายปริศนากวี” กลับเรียกว่า “ทายโจ๊ก” แทนซึ่งง่ายกว่าที่จะเรียกว่า “ทายปัญหากวี” คำว่า “โจ๊ก” จึงใช้กันมาทุกวันนี้

 

อ้างอิงจาก: ชมรมโจ๊กพนัสนิคม.  (๒๕๖๗).  โจ๊ก-ปริศนา.  ชลบุรี. ชมรมโจ๊กพนัสนิคม.

แกลเลอรี่