พระบาทจำลอง ของวัดตะปอนน้อย วัด เป็นปูชนียวัตถุทีมีไว้เคารพบูชา ในปี พ.ศ. 2515 เจ้าพระยาลาธารดานรสิทธิ์ ได้เป็นประธานการผูกพัทธสีมาฝัง
ลูกนิมิตพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปัจจุบันพระอุโบสถ หลังนี้ยังปรากฎอยู่ซึ่งมีอายุประมาณ 400 ปี ได้นำเอาพระบาทจำลองมาจากวัดช้างไห้ จังหวัดปัตตานี โดยมาทางเรือเมื่อมาถึงอำเภอแหลมสิงห์ได้จัดทำพิธีสมโภชฉลองกัน 7 วัน จากนั้นนำไว้ที่วัดตะปอนน้อย
ลักษณะของพระบาทจำลองนี้ ทำด้วยผ้ากว้างประมาณ 4 ศอก ยาว 21 ศอก บนผืนผ้านี้ประกอบด้วยรอยพระบาท 4 รอย รอยที่หนึ่งเป็นรอยของ “พระกุตสันโธ” รอยที่สองเล็กลงมาเป็นรอยพระบาทของ “พระโคนาดม” เล็กรองลงมาเป็นรอยที่สามเป็นรอยพระบาทของ “พระกัสสปะ” และรอยที่สี่เป็นรอยเล็กที่สุด เป็นรอยของ ” พระพุทธโคดม ” (พระพุทธเจ้า) ซึ่งรอยทั้งสี่นี้ซ้อนกันอยู่บนผืนผ้าชิ้นเดียวกัน คนในสมัยนั้นเชื่อกันว่า “รอยพระบาท” นี้สามารถขจัดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ระบาดในหมู่บ้านนี้ได้ ซึ่งในสมัยนั้นทางการแพทย์ยังไม่เจริญเท่าที่ควร ปีใดมีโรคระบาดทำให้ผู้คนล้มตายกันมาก โดยไม่มีทางที่จะช่วยได้ ชาวบ้านจะนำพระบาทจำลองออกแห่ ในการแห่นี้เขาจะม้วนผ้าให้กลมแล้วเอาผ้าห่อข้างนอกอีกหลายชั้นแล้วนำไปใส่เกวียนและประดับเกวียนที่บรรทุกพระบาทจำลองให้สวยงาม และจะมีคนตีกลองที่อยู่บนเกวียนนั้นด้วย โดยแห่ไปตามที่ต่างๆ สามารถนำเกวียนไปได้ ถ้าบ้านใดมีผู้คนเจ็บป่วยมากก็อัญเชิญพระบาทจำลองนี้ขึ้นไปบนบ้าน มีพระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์
ไปทั่วๆ โรคภัยไข้เจ็บนั้นก็จะหายหรือเบาบางลง
ต่อมานั้นการแพทย์เจริญขึ้น โรคระบาดน้อยลง การแห่พระบาทจำลองก็เปลี่ยนแปลงไป คือเปลี่ยนจากแห่มาเป็นชักเย่อแทน โดยถือเอาวันสำคัญคือหลัง
วันสงกรานต์ ประมาณวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ในการชักเย่อนี้จะให้ ชาย-หญิง อยู่คนละข้างโดยผูกเชือกติดอยู่กับเกวียนขณะที่ทั้งสองฝ่ายออกแรงดึงเชือก
คนตีกลองที่อยู่บนเกวียนจะ ตีกลองรัวจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ฝ่ายชนะถือว่าเป็นสิริมงคลเพราะสามารถลากพระบาทได้ ฝ่ายแพ้ก็จะขอแก้ลำใหม่ เพื่อต้องการชนะบ้าง เป็นที่สนุกสนานมาก หลังจากวันสงกรานต์ชาวบ้านจะนำรอยพระบาทไปบำเพ็ญตามทางแยก เข้าหมู่บ้านต่างๆ แห่งละ 1-2 วัน นับแต่หมู่บ้านตะปอนน้อยไปจนถึงหมู่บ้านหนองเสม็ดเพื่อเป็นการฉลองรอยพระบาทหลังสวดพุทธมนต์ ประชาชนจะนำเกวียนที่มีรอยพระบาทนั้นมาชักเย่อ รุ่งขึ้นเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี นับระยะที่ชาวบ้านนำรอยพระบาทไปทำพิธีตามสถานที่ต่างๆ ในตำบลตะปอนใช้เวลา 1 เดือนพอดี ถือได้ว่ารอยพระบาทจำลองนี้เป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลของชาวตำบลตะปอน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงปฏิบัติอยู่
ข้อมูลจาก: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี