ตั้งอยู่ระหว่าง บ้านอ่างศิลาและบ้านแหลมแท่น หรือทิศเหนือของหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี “เขาสามมุข”เดิมเรียกกันว่า “สมมุก” ดังปรากฏชื่อในโครงการกำศรวลศรีปราชญ์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทงอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับชื่อ “สมมุก” ไว้ในภาคผนวกหนังสือสามกรุง เป็นการสนับสนุนชื่อ “สมมุก” ของเดิมว่าดังนี้ “มีคำทำนายแต่ไม่ทราบว่ามีมาแต่ครั้งใดว่า” “สมมุกข์” (เขียนตามต้นฉบับ)จะเป็นป่าศรีราชาจะเป็นฝั่ง สีชังจะเป็นที่จอดเรือ แสดงให้เห็นว่าในเวลาที่ทำนายนั้น “สมมุกข์” ยังมิได้เป็นป่า ศรีราชายังมิได้เป็นฝั่ง สีชังยังมิได้เป็นท่าจอดเรือและตามคำบอกเล่าของคนในพื้นที่บอกต่อ ๆ กันมา ว่า “สมมุกข์” นั้นเดิมเป็นเกาะหิน หรือ“เกาะโล้น” ไม่มีต้นไม้เลยหินมีสีต่างๆ เวลาถูกแดดส่องดูแต่ไกลเห็นเป็นเลื่อมเหมือน“หอยมุกด์”(นายตรี อมาตยกุล, 2504)
เขา “สมมุก” นี้จะเปลี่ยนมาเรียกว่า “สมมุข” ตั้งแต่เมื่อใดไม่สามารถจะหาหลักฐานได้แน่นอน ที่มาเรียกกันว่า “สมมุข”ก็คงจะเนื่องจากเหตุที่ภูเขาลูกนี้มีแหลมยื่นกระพุ้งออกไปในทะเล มองแต่ไกลเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมไม่ยาวรีเหมือนภูเขาธรรมดา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสอ่างศิลา
ในพุทธศักราช 2400 และพุทธศักราช 2402 ทรงม้าประพาสเขานี้หลายคราว ในเวลานั้นก็เรียกกันว่า “เขาสมมุข” หรือ “เขาสำมุก” และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยเสด็จประพาสหลายครั้งเหมือนกัน “เขาสมมุข”นี้ นอกจากชาวประมงจะถือว่าเป็นภูเขาที่ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังนับว่าเป็นภูเขาสำคัญลูกหนึ่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้เคยเสด็จประพาสกันมาแต่โบราณ (นายตรี อมาตยกุล, 2504)
ตำนานเขาสามมุก ในสมัยก่อนที่จะมีชาดหาดบางแสน อันเป็นที่ตากอากาศปัจจุบันนี้ ชายทะเลย่านนี้เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง ผู้มีฐานะดีที่สุดในหมู่บ้านชื่อว่า กำนันบ่าย ซึ่งปกครองลูกบ้านมาด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กำนันบ่ายมีลูกชายเป็นหนุ่มรูปงามหนึ่งคน ชื่อแสน ยามว่างจากงานทะเล หนุ่มแสนมักชอบเล่นว่าวที่บริเวณชายทะเลมิได้ขาด ฝ่ายกำนันบ่ายเห็นว่า นายแสนสมควรมีเรือนได้แล้วจึงหมั้นหมายสาวงามในหมู่บ้านซึ่งมีฐานะดีให้เป็นคู่ครอง ซึ่งสาวมะลิ แต่แสนก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา ส่วนด้านหน้าผาริมทะเล มีหญิงชราคนหนึ่งปลูกกระท่อมหลังเล็กๆ อยู่กับหลานสาวคนหนึ่งที่มาจากเมืองบางปลาสร้อยชื่อ สาวสามมุก สาวสามมุกเป็นคนสวย เป็นเหตุให้บรรดาหนุ่มๆ คลั่งไคล้ในความงามของนาง ไปตามๆ กัน แต่สาวมุกก็ไม่ได้สนใจใครเป็นพิเศษ ยามเย็นสาวสามมุกมักออกมานั่งเล่นที่หน้าผาริมทะเลเสมอ เย็นวันหนึ่งขณะที่สาวสามมุกกำลังเพลินกับการชมธรรมชาติที่ริมทะเลก็มีลมพายุพัดว่าวปักเป้าตัวหนึ่งขาดลอยมา นางจึงรีบคว้าเอาสายป่านว่าวตัวนั้นไว้ ฝ่ายแสนผู้เป็นเจ้าของว่าวที่ขาด ก็ปีนป่ายตามโขดหินขึ้นมาบนหน้าผาเพื่อตามหาว่าวของตน ด้วยเหตุบังเอิญจากว่าวที่ขาดลอยมา ทำให้หนุ่มแสนได้เจอกับสาวสามมุกที่หน้าผาแห่งนี้ และนัดพบปะกันบ่อยครั้งจนกลายเป็นความรักและให้คำมั่นสัญญาว่า “จะรักกันอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย หากว่ามีเหตุอันเป็นไปไม่สมรักดังหวังแล้ว ก็จะพากันโดดหน้าผาแห่งนี้ตาย”และเพื่อเป็นสัญญารักต่อหญิงสาวแสนได้มอบแหวนวงหนึ่งให้กับสาวสามมุกเพื่อเป็นหลักประกันในความรัก วันหนึ่งกำนันบ่ายรู้เรื่องเข้าจึงได้แสดงความรังเกียจหาว่าสาวสามมุกต่ำต้อย ความรักของทั้งสองจึงถูกกีดกันไว้ด้วยฐานะที่แตกต่างกันและไม่ให้ได้พบกันอีก แสนถูกกักตัวไว้ฝ่ายกำนันบ่ายก็รีบจัดการสู่ขอสาวมะลิให้แก่แสนและจัดพิธีแต่งงานอย่างรีบด่วน โดยแสนไม่มีโอกาสได้ชี้แจงให้สาวสามมุกได้เข้าใจ เมื่อสาวสามมุกรู้เรื่องพิธีแต่งงานของแสนก็เสียใจอย่างสุดซึ้ง คิดว่าแสนละเลยคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่นางจึงร่ำไห้แทบจะขาดใจ ในวันแต่งงานของแสนกับมะลิสาวสามมุกได้เดินเข้าไปรดน้ำสงข์แสน น้ำสงข์ที่รดมีแหวนตกลงมาด้วยแสนจำได้ว่าเป็นแหวนที่มอบให้กับสาวสามมุก แต่เมื่อเงยหน้าขึ้นเห็นสามมุกวิ่งลงบันไดหนีไปท่ามกลางพายุและสายฝน แสนนึกคำนึงคำสาบานได้วิ่งตามไปที่หน้าผาแต่ไม่ทัน สาวสามมุกได้กระโจนลงจากหน้าผาร่างลอยละลิ่วกระทบกับโขดหินเบื้องหน้าสิ้นชีพอยู่ริมทะเล เมื่อเป็นเช่นนั้นแสนตัดสินใจกระโดดลงจากหน้าผานอนตายเคียงข้างกับสาวสามมุก ณ ที่นั้น วิญญาณรักอันแสนอมตะของคู่หนุ่มสาว
วนเวียนอยู่ท่ามกลางเสียงสะอื้นของสายลมและคลื่นทะเลที่โหมกระหน่ำอย่างไม่ขาดสาย กลายเป็นดนตรีและบทเพลงแห่งความรักอันแสนเศร้า! ฝ่ายพ่อของแสนและญาติมิตรเมื่อทราบเรื่องก็เศร้าโศกเสียใจอย่างสุดประมาณ ต้องเสียบุตรใช้ไป กำนันบ่ายจึงประกาศ และขอตั้งชื่อหน้าผาแห่งนี้ว่า “สามมุก” เพื่อ
เป็นการระลึกถึงนางผู้พลีชีพเพื่อรักอันซื่อสัตย์ และตั้งชื่อหาดทรายริมทะเลตรงนั้นว่า “บางแสน” (วิสันต์ บัณฑะวงศ์, 2532, หน้า 131-137)
ตามตำนานชาวบ้านเล่าว่า เมื่อตกกลางคืนได้เห็นร่างของหญิงสาวมายืนตรงหน้าผานั้นทุกคืน จึงได้ช่วยกันสร้างศาลขึ้นที่เชิงผาเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตและเรียกว่า “ศาลเจ้าแม่สามมุข” ซึ่ง “ศาลเจ้าแม่สามมุข” นี้ ต่อมาเป็นที่เคารพและสักการะของชาวบ้านและชาวประมงเป็นอันมาก ด้วยเหตุที่ว่าเรือลำใดที่ผ่านเข้าไปใกล้เขาสามมุขจะเกิดลมปั่นป่วนม้วนใบกลับ ทำให้เรือคว่ำหรือลอยเข้าประทะหน้าผาแตก ชาวประมงที่แล่นเรือผ่าน “ศาลเจ้าแม่สามมุข” จึงมักบนบานศาลกล่าวเจ้าแม่ขอให้เรือผ่านพ้นไปโดยสวัสดิภาพ อย่าให้เป็นอันตรายแต่อย่างใดเลย แม้เวลาจะออกเรือไปหาปลาก็มักจะจุดประทัดบนบานขอให้ได้ปลาเต็มลำเรือกลับมา อย่าได้เจอลมพายุ แต่ถ้าเจอพายุกลางทะเลก็ยังจุดธูปขอให้เจ้าแม่ช่วยให้รอดปลอดภัยจากอันตราย แล้วก็สัมฤทธิ์ผลอยู่เรื่อยมาชาวประมงจึงถือว่า “เขาสามมุข” เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์และมักจะเรียกกันว่า
“เขาเจ้าแม่”
ตัวเจ้าแม่สามมุขที่อยู่ในศาลนั้น ทำเป็นรูปเจว็ดพระภูมิแต่ปิดทองเสียเต็มไปหมดไม่สามารถจะมองเห็นว่ามีรูปโฉมเป็นอย่างไร ตัวศาลเดิมผุพังไปหมดแล้ว ชาวจีนได้เรี่ยรายเงินมาสร้างศาลขึ้นใหม่ แล้วนำเอาเทวรูปของจีนมาประดิษฐ์ไว้แทน ส่วนเจว็ดนั้นก็คงอาปักไว้ในศาลที่สร้างใหม่ตรงหน้าเทวรูป ศาลที่สร้างขึ้นใหม่ มีชาวจีนเป็นผู้ดูแล และมีธูปเทียนทองขายสำหรับผู้ไปนมัสการจะได้ซื้อบูชา (ปัจจุบัน คือ “ศาลเจ้าแม่สามมุข”) ไทย
หลังศาลเจ้าแม่สามมุขนี้เล่ากันว่าเป็นถ้ำ มีเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ถ้วยชามเบญจรงค์ ถาด หม้อ และตุ่มไหขนาดต่างๆ ชาวบ้านในตำบลใกล้เคียงจะทำบุญทำทานก็มาจุดธูปเทียนบูชาเจ้าแม่ แล้วก็เข้าไปในถ้ำขอยืมเอาของที่ต้องการไปใช้งานได้ เมื่อเสร็จงานแล้วจึงนำมาส่งคืน ครั้งต่อมาเกิดมีผู้ทุจริตคิดยักยอกเครื่องใช้เหล่านี้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย เจ้าแม่สามมุขโกรธจึงไม่เปิดปากถ้ำให้คนเข้าไปข้างในอีก เพราะฉะนั้นถ้ำที่หลังศาลเจ้าแม่สามมุขนี้ในปัจจุบันจึงปิดสนิท ไม่มีผู้ใดสามารถจะล่วงล้ำเข้าไปข้างในได้เลย (นายตรีอมาตยกุล, 2504)
องค์ประกอบทางกายภาพของ “เขาสามมุข” ประกอบด้วย
1. ศาลเจ้าแม่สามมุข (จีน) ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาเชิงเขาสามมุขด้านตะวันออกของเขา ศาลเจ้าแม่สามมุข (ไทย)ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาเชิงเขาสามมุขด้านตะวันตกเฉียงใต้ สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้กราบไหว้บูชา บนบานและขอพร
2. ลิงเขาสามมุข เป็นลิงที่อาศัยอยู่ในป่าบนเขาสามมุข มีมาแต่ดั้งเดิม ชอบออกมาเดินเล่นตามถนน และบริเวณรอบๆ เขาสามมุขตลอดวันให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและให้อาหาร มีจำนวนนับพันหรือมากกว่า นักท่องเที่ยวชอบมาก
3. จุกชมวิวบนยอดเขาสามมุขและสถานที่นั่งพักผ่อนริมทะเล
4. ร้านอาหารทะเล ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลตรงข้ามศาลเจ้าแม่สามมุข (จีน) หลายร้ายสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้เลือกทานอาหารและนั่งชมทัศนียภาพ
5. บ้านรับรองของรัฐบาล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสามมุขสร้างขึ้นในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นเรือนรับรองของรัฐบาลใช้เป็นที่พักตากอากาศของบุคคลสำคัญในรัฐบาลและรับรองอาคันตุกะจากต่างประเทศ ตลอดจนเป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง รวมถึงครั้งที่ ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ใช้เป็นที่พักรับรองให้กับผู้นำ 3 ประเทศ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เมื่อครั้งการประชุมก่อตั้งสมาคมในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ บ้านแหลมแท่น ในปี พ.ศ. 2510 (กรมอาเซียน, 2552) สมัยนั้นอาคารสวยงามมาก ปัจจุบันอาคารหลังนี้อยู่ในความดูแลของกองทัพไทย
6. บ้านพักตากอากาศ ที่บุคคลสำคัญในรัชสมัย ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลายท่านมาสร้างไว้หลายหลัง ปัจจุบันยังมีอยู่
การให้บริการและกิจกรรม
1. บริการจุดชมวิวบนยอดเขาสามมุข เมื่อนักท่องเที่ยวยืนตรงจุดชมวิว ด้านเหนือจะมองเห็นอ่าวอ่างศิลาที่มีหลักเลี้ยงหอยแมลงภู่และหอยนางรมปักอยู่เต็มท้องทะเล ส่วนด้านตะวันตกจะมองเห็นแหลมแท่นที่ต่อเนื่องกับหาดบางแสน หากวันที่มีทัศนียภาพอากาศปลอดโปร่งจะมองเห็นเกาะสีชังและตัวเมืองศรีราชา ทั้งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกทีสวยงามมากแห่งหนึ่ง
2. บริการร้านอาหารทะเลสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป
3. บริการให้อาหารลิงที่อาศัยอยู่บนเขา เป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดใจ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเขาสามมุข
4. บริการธูปเทียนกราบไหว้ “เจ้าแม่สามมุข”
5. บริการสนามแข่งรถยนต์ทางเรียบแบบปิดเมือง (Bangsaen Thailand Speed Festival)
ปัจจุบัน “เขาสามมุข” เป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงควบคู่กับบางแสน มีบริการและกิจกรรมที่โดดเด่นหลายกิจกรรม ดังได้กล่าวมาแล้วนอกจากนี้ “เขาสามมุข” ยังเป็นภูเขาที่สำคัญลูกหนึ่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้เคยเสด็จประพาสกันมาแต่โบราณ และเป็นภูเขาที่สำคัญที่จังหวัดชลบุรีใช้เป็นสัญลักษณ์ในดวงตราประจำจังหวัดชลบุรีอีกด้วย
เวลาการให้บริการ
ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับการเดินทาง ถ้าหากใช้รถส่วนตัวเริ่มขับจากอ่างศิลา ประมาณ 5 กิโลเมตร จะพบป้ายบอกทางเข้าเขาสามมุข ให้เลี้ยวขวาเข้าไป ประมาณ 100 เมตร จะพบทางแยก ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปยอดเขาเป็นจุดชมวิวทิวทัศน์และมีอาหารลิงขาย ถ้าเลี้ยวขวาตรงไป จะถึงศาลเจ้าแม่สามมุข (จีน) มีร้านอาหารทะเลอยู่ตรงข้าม ตรงไปจะเป็นทางโค้งขึ้นเขาซ้ายมือเป็นศาลเจ้าแม่สามมุข (ไทย) มีจุดชมวิว มีม้าให้นั่งเล่นและพักผ่อน หรือมาจากแยกถนนสุขุมวิท ประมาณ 9 กิโลเมตร ถ้าเริ่มต้นมาจากหาดบางแสน ผ่านแหลมแท่นจะมีป้ายบอกทาง ประมาณ 2 กิโลเมตรจะถึงเขาสามมุข นอกจากใช้รถส่วนตัวแล้วยังมีรถสองแถวรับจ้างราคา ประมาณ 100 บาทบริการอีกด้วย
ข้อมูลจาก: หนังสือปกิณกวัฒนธรรม จังหวัดชลบุรี
ข้อมูลจาก: กระทรวงวัฒนธรรมชลบุรี