ประเพณีวิ่งควาย

        ประเพณีวิ่งควาย เป็นงานประเพณีประจำจังหวัดชลบุรี เป็นหนึ่งในประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดชลบุรีที่มีการจัดมากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือก่อนออกพรรษา 1 วัน เพื่อเป็นการทำขวัญควายและให้ควายได้พักผ่อนหลังจากตรากตรำกับการงานในท้องนามายาวนาน นอกจากนี้ประเพณีวิ่งควายยังเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อควายที่เป็น สัตว์มีบุญคุณต่อชาวนาและคนไทยอีกทั้งยังเพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพักผ่อน มาพบปะสังสรรค์กันในงานวิ่งควาย เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่า หากปีใดไม่มีการวิ่งควายปีนั้นควายจะเป็นโรคระบาดกันมาก

         ส่วนใหญ่งานประเพณีวิ่งควาย จัดงานในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี และอำเภอบ้านบึง เดิมมีแต่คนในท้องถิ่นรู้จัก แต่ในปัจจุบันประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีประจำจังหวัดชลบุรี ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในอดีตประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีวิ่งควายที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ว่าถ้าควายของ ใครเจ็บป่วย เจ้าของควายควรจะนำควายของตนไปบนกับเทพารักษ์ และเมื่อหายเป็นปกติแล้วจะต้องนำ ควายมาวิ่งแก้บน ฉะนั้น ในปีต่อๆ มาชาวบ้านก็นำควายของตนมาวิ่งเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยเสียแต่เนิ่นๆ ส่วนความเชื่อในทางศาสนาพุทธนั้น เกิดจากการที่ชาวบ้านมา ชุมนุมกัน ที่วัดใหญ่
อินทาราม จังหวัดชลบุรี เพื่อนำเครื่องกัณฑ์ใส่ ควายเทียมเกียวนมาพักที่วัด เพื่อจะรอการติดกันเทศน์ในเทศกาล เทศน์มหาชาติ ขณะที่รอเด็กเลี้ยงควายต่างก็นำควายของตนไปอาบ น้ำที่สระบริเวณวัด เมื่อต่างคนต่างพาควายของตนไปก็เกิดมีการประลองฝีเท้าควายเกิดขึ้น เพื่อทดสอบสุขภาพความแข็งแรงกันการแข่งขัน  ในระยะแรกๆจึงเป็นเพียงการบังคับควายขณะ วิ่งในระยะที่กำหนด และห้ามตกจากหลังควาย ต่อมาจึงเชื่อว่าการวิ่งควายได้มีการพัฒนา ขึ้นเรื่อยๆ มีการวิ่งรอบตลาด เมื่อถึงเทศกาลก่อนออกพรรษา ๑ วัน ชาวบ้านร้านตลาดต่างก็จะรอดูควายที่มาวิ่งมีการ ตกแต่งควายให้สวย งามและวิจิตรบรรจงมากขึ้นจนกลายเป็นประเพณีวิ่งควาย 

          ส่วนขั้นตอนการวิ่งควาย  ในปัจจุบันเจ้าของควายจะตกแต่งควาย อย่างงดงามด้วยผ้าแพรพรรณดอกไม้หลากสี ตัวเจ้าของควายก็แต่ง ตัวอย่างงดงามแปลกตา เช่น แต่งเป็นชาวเขา ชาวอินเดียแดงหรือตกแต่งด้วยเครื่องทองประดับเพชรเหมือนเจ้าชายในลิเกละคร ที่แปลกตา แล้วนำควายมาวิ่งแข่งกัน โดยเจ้าของ เป็นผู้ที่ขี่หลังควายไปด้วย ความสนุกอยู่ที่ท่าทางวิ่งควายที่แปลก บางคนขี่ก็ลื่นไหลตกลงมา จากหลังควายและคนดูจำนวนมากจะส่งเสียงกันดังอย่าง
อื้ออึง และมีการเพิ่มประกวดสุขภาพควายประกวด การตกแต่งควายทั้งสวยงาม และตลกขบขัน มีการประกวดน้องนางบ้านนา ทำให้ ประเพณีวิ่งควายมีกิจกรรมมากขึ้น ชาวเกษตรกรรมต่างก็พอใจกัน พืชพันธุ์ธัญญาหารในไร่กำลังตกดอกออกรวง จึงคำนึงถึงสัตว์ เช่น วัว ควาย ที่ได้ใช้งานไถนาเป็นเวลา หลายเดือน ควรจะได้รับความสุขตามสภาพบ้าง จึงต่างตกแต่งวัว ควายของตนให้สวยงาม บรรดาเกษตรกรมีการสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนมีการประกวดความสมบูรณ์ของวัวและควายที่เลี้ยงกัน

ข้อมูลจาก หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี