ศาลพระภูมิในมหาวิทยาลัย
โดย… เชาวน์ มณีวงษ์
รศ. เขาวน์ มณีวงษ์
ศิษย์เก่ารุ่น ๑ “ม้าสีหมอก”
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสโมสรศิษย์เก่าวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ท่านแรก
ส.ว.จังหวัดชลบุรี
“เรื่องนี้เชื่อไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่
เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์การก่อตั้งสถาบันแห่งนี้
ผมไม่ใช่เป็นคนงมงายแต่มีความเชื่อถือ ศรัทธาและเชื่อ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่ยึดมั่นทางจิตใจอันยังความ
ไม่ประมาทและอยู่ในครรลองทางจริยธรรม
ในการดำเนินชีวิตเสมอมา”
๑ มิถุนายน ๒๓๙๘ นิสิตหนุ่มทั้ง ๔๓ ชีวิตเริ่มคร่ำเคร่งกับการศึกษาความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ คือวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ซึ่งเป็นปฐมสถานของมหาวิทยาลัยศรีนทรวิโรฒ บางแสน และมหาวิทยาลัยบูรพา ในปัจจุบัน
เราเริ่มต้นด้วยความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเป็นของตนเองเลย การเรียน การกิน การอยู่ ต้องอาศัยสถานที่ของวิทยาลัยบางแสน ชลบุรี ซึ่งสังกัดกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบันนี้คือ หอนอน อาคารเรียน ๒ ชั้น ที่ติดกับคณะพยาบาลศาสตร์ปัจจุบัน และอาคารปฏิบัติการของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ส่วนที่เป็นสมบัติ
ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสน ก็คือที่ดินผืนใหญ่ จำนวน ๓๐๐ ไร่ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “สวนหลวง” อันเป็นสมบัติของหม่อมเจ้าหรือพระองค์เจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง
มาแต่เดิมซึ่งในขณะนั้นเป็นป่ามะพร้าวเต็มไปด้วยต้นตะบองเพชร ต้นสาปเสือ ต้นพุดทรา และพงหญ้า ไม่มีอาคารและสิ่งก่อสร้างแม้แต่หลังเดียว ที่สำคัญ และเป็นต้นเรื่อง
จะพูดถึงและมีความสำคัญควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ก็คือ ทั้งผืนดินดังกล่าว เต็มไปด้วยศาลพระภูมิ (ตั้งอยู่บนเสาเดียว) มีทั้งเก่า ๆ และใหม่ ๆ บางศาล
ก็เอนเอียงบางศาลก็ล้มกองอยู่กับพื้น นับเป็นร้อย ๆ ศาล กระจัดกระจายเต็มพื้นที่
พ.ศ. ๒๔๙๙ เราได้งบประมาณสร้างอาคาร ๓ หลัง อาคารอำนวยการอาคารหอนอนชาย อาคารหอนอนหญิง ในช่วงระหว่างก่อสร้าง รองอธิการในขณะนั้นคือ ศาสตราจารย์ดร.ธำรง บัวศรี ได้สั่งการให้เก็บรวบรวมศาลพระภูมิทั้งหมดไปถวายวัดแจ้งเจริญดอน
พ.ศ. ๒๕๐๐ เราย้ายข้ามฟากมาอยู่ มากิน มาเรียน ณ ที่ของเรา อาคารของเรา ด้วยความสุขและภาคภูมิใจเพราะเป็นอาคารอันสง่างาม ระบบอาคารหอนอนที่หรูหรา ไม่มีอาคารหอนอนที่ใด ๆ ในประเทศไทยพึงเทียบได้ นิสิตรุ่นที่ ๑ รุ่นที่ ๒ รุ่นที่ ๓ และรุ่นที่ ๔ ได้ใช้ชีวิตศึกษาหาความรู้อย่างเต็มกำลังความสามารถ เหตุการณ์เป็นไปด้วย
ความสงบเรียบร้อย
ท่ามกลางความสุขสงบที่ผ่านมา มีเรื่องบางเรื่องปรากฏขึ้น มีการค้นพบว่า ที่ของวิทยาลัยผืนนี้ เป็นที่ฝังศพของชาวบ้าน ด้วยการขุดหลุมก่อสร้างอาคารได้พบ
โครงกระดูกเป็นจำนวนมาก และได้นำไปฝากวัดแจ้งเจริญดอน กับทั้งปีนี้มีเรื่องประหลาดที่เกิดขึ้นจริง กล่าวคือ
ท่านอาจารย์บุญส่ง วรรธนสาร อาจารย์ปกครองหอพักหญิง ได้เกิดนิมิตรเป็นความฝันว่ามีชายชรารูปร่างสูงใหญ่ นุ่งหยักรั้งสีแดง มือถือกระบองใหญ่ชี้หน้าท่าน
และกล่าวว่า “พวกมึงมาอยู่ที่นี่ ทำลายบ้านเรือนที่อยู่ของกูหมด พวกมึงต้องหาที่อยู่ให้กูใหม่” เรื่องนี้ไม่มีใครสนใจ ปรากฏว่าในปีนั้นมีนสิติ (รุ่นที่ ๒) ชื่อคุณเชื้อ จุลกสิกร
เสียชีวิตด้วยโรคปวดหัว ซึมเศร้า แม้ส่งโรงพยาบาลและเยียวยารักษาแล้ว เพียง ๒ – ๓ วัน ก็เสียชีวิต รุ่งขึ้นอีก ๑ ปี นิสิตก็เสียชีวิตอีกคน (เป็นนิสิตรุ่น ๓ ชื่อคุณเฉลา
ศิวะสมบูรณ์) เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กล่าวขานวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในหมู่นิสิตและอาจารย์อย่างกว้างขวาง ท่านอาจารย์ ดร.ธำรง บัวศรี จึงสั่งการให้อาจารย์ลดาวัลย์ นุสติ ซึ่งมี
ความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปศึกษาเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจารย์ลดาวัลย์ นุสติ ได้นำความและเรื่องราวที่เกิดไปขึ้นไปปรึกษากันกับ ร.อ. หลวงสุวิชาแพทย์ ร.น. ได้ความว่า
เรื่องที่อาจารย์บุญส่ง วรรธนสารเกิดนิมิตรฝันนั้นเป็นความจริง วิทยาลัยต้องพิธี ตั้งศาลพระภูมิขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นที่สิงสถิตของเจ้าของจิตวิญญาณที่ล่องลอยอยู่ ทดแทน
ที่วิทยาลัยถอดถอนออกไป วิทยาลัยได้ทำพิธีจัดตั้งศาลพระภูมิตามคำแนะนำความเป็นอยู่ภายในวิทยาลัยก็ราบรื่นเป็นลำดับ
ช่วงต่อมามีการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลจอมพล ป.พิบูสงคราม ถูกขับไล่ออกไป จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ ช่วงหนึ่งท่านได้มาพัก
ตากอากาศที่บางแสน เมื่อท่านนั่งรถผ่านวิทยาลัย ท่านเห็นนิสิตชายหญิงขี่จักรยานออกจากวิทยาลัยไปเที่ยวชายหาดเมื่อยามเย็น ซึ่งขณะนั้นวิทยาลัยไม่มีรั้วกั้นเป็นเขตแนว
ที่ชัดเจน ท่านได้สอบถามและอนุมัติงบประมาณก่อสร้างรั้ว ด้านหน้าติดกับถนนตลอดแนว
วิทยาลัยได้ดำเนินการสร้างรั้ว ตามงบประมาณที่ได้รับ แต่แนวรั้วนั้นจะต้องห่างจากจุดกึ่งกลางถนนหน้าวิทยาลัย ๑๕ เมตร ตามกฏหมาย จึงทำให้ศาลพระภูมิที่วิทยาลัยสร้างไว้แต่เดิมอยู่นอกรั้ววิทยาลัย ในช่วงระยะ ๒ – ๓ ปี ต่อมา มีนิสิตเสียชีวิตอีก ๒ คน เป็นนิสิตรุ่นที่ ๔ คือนายนริศ และนายวิฑูรย์ด้วยโรคประหลาดอย่างเดียวกัน คือปวดหัว ซึมเศร้า เพียง ๒ – ๓ ก็เสียชีวิตแบบเดียวกัน วิทยาลัยเดือดร้อน อาจารย์ลดาวัลย์ นุสติ ต้องกลับไปปรึกษาความกับ ร.อ. หลวงสุวิชาแพทย์ ร.น. อีกครั้งหนึ่ง จากการทำสมาธิและนั่งทางในท่านบอกว่าวิทยาลัยไม่ได้ตั้งศาลพระภูมิให้ อาจารย์ลดาวัลย์ นุสติ ได้กราบเรียนท่านว่าวิทยาลัยได้ทำแล้ว แต่ท่านก็ยืนยันว่าวิทยาลัยยังไม่ได้ทำ ซึ่งเป็นจริงอย่างที่ ร.อ. หลวงสุวิชาแพทย์ ร.น. ยืนยันเพราะศาลพระภูมิที่สร้างไว้นั้นอยู่นอกรั้ววิทยาลัย จึงมีความจำเป็นต้องสร้างศาลพระภูมิทดแทน วิทยาลัยได้ทำพิธีตั้งศาลพระภูมิขึ้นใหม่ (ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้)
เรื่องศาลพระภูมินี้ เป็นเรื่องเล่าขาน รับรู้ของนิสิตรุ่นที่ ๑ – ๖ และถ่ายทอดมายังนิสิตรุ่นต่อ ๆ มา นิสิตใหม่ทุกคนจะถูกชักนำให้ไปกราบไหว้ที่ศาลพระภูมิเพื่อขอพร
ทั้งในการใช้ชีวิตอยู่ในวิทยาลัยอย่างสงบสุขราบรื่น และขอพรในเรื่องการศึกษาเล่าเรียนให้ประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้
การกราบไหว้บูชา นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพในเจ้าที่เจ้าทางอย่างหนึ่งแล้ว ยังเป็นความเชื่อมั่นทางจิตใจ ศูนย์รวมสมาธิและการมีสติในการดำเนินชีวิต
ต่อไปอีกด้วย
การบูชาทำได้ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือ อามิสบูชา เป็นการบูชาด้วยสิ่งของเป็นต้นว่า ดอกไม้ พวงมาลัยน้ำ อาหาร เป็นต้น และปฏิบัติบูชาคือการบูชาด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบทั้งกาย วาจา และจิตใจ ข่วงระยะที่ใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาตลอด ๕๐ ปีเต็ม มีความเชื่อมั่นที่จะชี้แนะต่อนิสิตนักศึกษา ครูบาอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้ว่า ผู้ใดก็ตามที่มีจิตใจที่ดีงาม มีความกตัญญูรู้คุณ ต่อบุคคลและสถาบันและมีความเคารพซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีความเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ชีวิตก็จะเป็นสุข
ข้อมูลจาก: มหาวิทยาลัยบูรพา. (๒๕๔๙). หนังสือที่ระลึก เทา-ทอง คืนถิ่น ๒๕๔๙. ชลบุรี: มหาวิทยาลัยบูรพา