สระน้ำ (สระสี่เหลี่ยม) แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลสระสี่เหลี่ยม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี สระสี่เหลี่ยม หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “สระพระรถ” ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าถูกขุดขึ้นในสมัยใด ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงกับโบราณสถานแห่งนี้มีความเชื่อว่าสระสี่เหลี่ยมเป็นที่สถิตของเจ้าพ่อหลายองค์ เช่น เจ้าพ่อหลคง เจ้าพ่อหลวง เป็นต้น ในประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน บรรดาร่างทรงจะเดินทางมาร่วมชุมุมทำพิธีทรงเจ้าที่บริเวณสระสี่เหลี่ยมแห่งนี้กันเป็นประจำ
หลักฐานสำคัญทางโบราณคดี ได้แก่ สระสี่เหลี่ยม สระน้ำที่ถูกขุดลงไปในพื้นศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความยาว ๑๕ เมตร ความกว้าง ๑๒ เมตร ขอบสระตัดเรียบเสมอกันทั้งสี่ด้าน ความหนา ๑๖๕ เซนติเมตร มีทางให้น้ำไหลเข้า-ออกอยู่ทางทิศตะวันตก ปัจจบันมีการก่อกำแพงอิฐเตี้ย ๆ ล้อมรอบขอบสระอีกชั้นหนึ่ง ขอบสระทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มีการพังทลาย แต่เดิมมีแท่นหินตั้งอยู่บริเวณขอบบ่ออาจจะเป็นแท่นบูชา ปัจจุบันได้สูญหายไป จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า สระสี่เหลี่ยมน่าจะเป็นแหล่งน้ำที่ถูกขุดขึ้นในช่วงวัฒนธรรมทวาราวดีต่อเนื่องถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗) เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคหรือเพื่อการประกอบพิธีกรรม ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับแนวเส้นทางถนนพระรถ กำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงทวาราวดี-วัฒนธรรมเขมรโบราณ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗)
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานสระน้ำ (สระสี่เหลี่ยม) ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๓๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๓๘ พื้นที่โบราณสถานกว้างประมาณ ๔ วา ๒ ศอก ลึก ๗ ศอก